ภาษีคาร์บอน ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

03 มกราคม 2568
ภาษีคาร์บอน ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

เราต่างก็ทราบดีว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย ควบคู่ไปกับการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จนนานาประเทศต้องทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคืนสมดุลให้โลก เกิดเป็นมาตรการระดับประเทศเพื่อใช้บริหารจัดการและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ที่เรียกว่า "การจัดเก็บภาษีคาร์บอน" นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ

สำหรับประเทศไทย มีเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) หรือก็คือลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอันใกล้มาก ๆ เช่นกัน

ภาษีคาร์บอนคืออะไร

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) มีหลักการและแนวคิดของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ว่าเป็นหลักการที่กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้อง "จ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ตามหลักการของ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluter Pay Principal) โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อย (ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า) ซึ่งอาจเก็บจากการใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมันเชื้อเพลิง (Carbon Tax) หรือเก็บจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแหล่งปล่อย (Emission Tax) ก็ได้

ภาษีคาร์บอน จัดเป็นหนึ่งในกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการกำหนดต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน และราคาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีต้นทุนที่ชัดเจน จึงสามารถผลักดันให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดภาษี ข้อดี คือมีความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการ แต่ก็ต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจมากเกินไป

อัตราภาษีคาร์บอน จึงนับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดว่าสังคมจะสามารถบรรลุจุดที่มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุดได้หรือไม่ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีที่เหมาะสม คือระดับที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเพิ่ม เท่ากับ ต้นทุนความเสียหายของสังคมส่วนเพิ่ม โดยภาษีคาร์บอนมีข้อดี คือช่วยให้รัฐบาลมีรายได้ ลดการบิดเบือนของการจัดสรรทรัพยากร กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงเทคโนโลยี และมีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราภาษี แต่ก็มีข้อเสีย คือผู้กำหนดนโยบายจะต้องทราบข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งต้นทุนการลด ต้นทุนความเสียหาย และต้องทราบความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทานในตลาด เป็นต้น

โดยวิธีการคำนวณภาษีคาร์บอน คือ ราคาคาร์บอน (บาท/น้ำหนักคาร์บอน) x การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้า (เชื้อเพลิง) (น้ำหนักคาร์บอน/น้ำหนักหรือปริมาณสินค้า) = ภาษีคาร์บอน (บาท/น้ำหนักคาร์บอน)

ทำไมต้องมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน

จากผลการรายงาน "Greenhouse Gas Bulletin 2024" ซึ่งจัดทำโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เปิดเผยข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปี 2023 ที่พบว่าพุ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 12 ปีซ้อน ทำให้ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้น การออกนโยบายระดับประเทศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดย "ภาษีคาร์บอน" เป็นหนึ่งในนโยบายที่สร้างขึ้น ด้วยมุ่งหวังจะปรับพฤติกรรมทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ดังนี้

เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานฟอสซิล เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอน จึงเป็นวิธีการกำหนด "ต้นทุน" ให้กับการปล่อยก๊าซเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจและผู้บริโภคลดการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพลังงานสะอาดเมื่อการใช้พลังงานฟอสซิลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการต้องจ่ายภาษี ทั้งธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะมองหาทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เช่น การพลังงานหมุนเวียน หรือยอมลงทุนให้กับเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องจ่ายค่าปรับและอัตราภาษีที่สูง

ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ก็ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอนจะช่วยให้หลักการ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" ทำได้จริง

สนับสนุนเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมระดับโลกภาษีคาร์บอน จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งมุ่งเน้นให้โลกรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาษีคาร์บอน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยภาษีคาร์บอนจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและผู้บริโภคลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เลือกใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดต้นทุนด้านภาษี ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลดลง

คืนสมดุลให้ทรัพยากรธรรมชาติภาษีคาร์บอนเป็นการเพิ่มต้นทุนในการใช้พลังงานที่ปล่อยมลพิษ ธุรกิจจึงจะเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุดมากขึ้น เพื่อลดของเสียและการทำลายสิ่งแวดล้อม

ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในระยะยาวภาษีคาร์บอนเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง จึงช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ลดภาวะโลกร้อน และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยได้รับผลกระทบ

ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ดังนี้

เป็นการเพิ่มต้นทุนในธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิล จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการจ่ายภาษีคาร์บอน ทำให้ราคาสินค้าและบริการอาจปรับตัวสูงขึ้น

ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ อาจเริ่มเห็นประโยชน์จากการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วย

เพิ่มตลาดในการจ้างแรงงานเพราะความต้องการในเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนจะมีเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถสร้างงานใหม่ ๆ หรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว เช่น งานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจคาร์บอนต่ำ

ส่งเสริมความยั่งยืนแม้ในระยะสั้น ภาษีคาร์บอนจะต้นทุนและเพิ่มภาระ แต่ในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้ประเทศพึ่งพาพลังงานที่สะอาด ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของโลกร้อน ควบคู่ไปกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ภาษีคาร์บอนในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง และก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยเคยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกรมสรรพากร จึงผลักดันมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกรรมการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยกรมสรรพากรได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 514) พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เพื่อกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดภายใต้พิธีสารเกียวโต และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีการนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในรูปแบบภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าบางประเภท อย่างรถยนต์ โดยได้เริ่มนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี หากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 25 ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150-200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 30 และถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 35 ส่วนรถยนต์นั่งความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี มีอัตราภาษีร้อยละ 40

ในส่วนของการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องดำเนินการตามบริบทของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมโลก ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่ทางสหภาพยุโรป (EU) จะเรียกเก็บจากผู้ส่งออกในปี 2569 ไทยจึงจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (ต่อจากสิงคโปร์) ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน

ในระยะแรก จะเริ่มต้นเก็บจากภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่มีการเรียกเก็บอยู่แล้วให้กลายเป็นภาษีคาร์บอน โดยในปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 6.44 บาท/ลิตร และภาษีน้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 6.50 บาท/ลิตร และสำหรับอัตราภาษีคาร์บอนที่จะเรียกเก็บ อยู่ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเป็นการจัดเก็บที่ถูกเกินไป จนไม่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการใช้เป็นมาตรการการคลังเพื่อกดดันอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง

อีกทั้งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกการใช้คาร์บอนเครดิต และการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งจะกำหนดกรอบการดำเนินงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายในการบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) กำหนดให้ภาคเอกชนต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และครอบคลุมถึงระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และระบบภาษีคาร์บอน

"ราคาที่ต้องจ่าย" เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น

สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ก็คือ ภาษีคาร์บอน ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้บริโภคอย่างเราก็อาจได้รับผลกระทบโดยตรงในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ไปจนถึงการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เพราะเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากจะมีต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนเหล่านี้ก็มักถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการ จึงอาจทำให้ชีวิตประจำวันของเรามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถึงอย่างนั้น เป้าหมายของภาษีคาร์บอน คือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น ใช้พลังงานสะอาด ลดการเดินทางที่ใช้พลังงานสูง หรือเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลากรับรองการปล่อยคาร์บอนต่ำ

ในอนาคตข้างหน้า ภาษีคาร์บอน จะกลายเป็น "ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย" ให้แก่รัฐ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงตัวเงินที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางที่ต้องคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอน แม้กระทั่งการเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ยั่งยืน มีฉลากคาร์บอนรับรอง อย่างไรก็ดี ประเทศสวีเดน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ภาษีคาร์บอนจัดการกับสภาพอากาศ นับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้นโยบายนี้ในปี 1991 (พ.ศ. 2534) สวีเดนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 25 แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนก็ตาม

ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายบังคับใช้การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องพร้อมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในชีวิตประจำวัน หรือสนับสนุนสินค้าสีเขียวที่ผลิตโดยธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภาษีคาร์บอนอาจทำให้เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว "ราคาที่เราจ่าย" จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลกในรุ่นลูกรุ่นหลานให้น่าอยู่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ ทว่าก็เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะโลกร้อนไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้น หรือภัยพิบัติที่รุนแรงยากจะรับมือ แต่คืออนาคตของโลกที่จะไม่มีทางให้หันหลังกลับ!

เพราะเป้าหมายสำคัญที่ทุกประเทศต่างช่วยกันดำเนินการในเวลานี้ คือการจำกัดอุณภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีส ภาษีคาร์บอน จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ถูกนำมาบังคับใช้เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าในมุมหนึ่ง ภาษีคาร์บอนจะถูกมองว่าเป็น "ภาระ" ของผู้บริโภค แต่ในภาพรวม มันคือ "แรงผลักดัน" ที่ทำให้สังคมหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยที่ผู้บริโภคเองก็จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย


แหล่งที่มา : Ryt9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.